ปฏิทิน

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมวันครู



กิจกรรมวันครู

โรงเรียนบ้านคอนเมือง โดยท่านผู้อำนวยการธนยศ ปะเสทะกัง ได้นำคณะครูโรงเรียนบ้านคอนเมืองเข้าร่วมกิจกรรมวันครู ประจำปี 2553 ที่อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา.....
โรงเรียนบ้านคอนเมือง โดยท่านผู้อำนวยการธนยศ ปะเสทะกัง ได้นำคณะครูโรงเรียนบ้านคอนเมืองเข้าร่วมกิจกรรมวันครู ประจำปี 2553 ที่อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในงานมีกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ กิจกรรมบูชาครู มอบโล่รางวัลครูดีเด่น ครูดีในดวงใจ ซึ่งในกิจกรรมวันครู ประจำปี 2553 นายธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคอนเมือง ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่วิชาชีพครูดีเด่น โดยนายอำเภอคงประธานในพิธีเป็นผู้มอบรางวัล ในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ เขตคุณภาพคง1 - คง5 และในช่วงเย็นเป็นกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพครู ส่วนราชการอื่นๆ ภาครัฐและเอกชน เชิญชมภาพบรรยากาศค่ะ

http://www.nma6.obec.go.th/korat6/view.php?article_id=3991

ประวัติวันครู




วันครูความหมาย

ครู หมายถึงผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ
ประวัติความเป็นมา

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า"คุรุสภา" ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ จัดสวสัดิการให้แก่ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุกๆปี คุรุสภาจึงจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมี คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุม"สามัคคยาจารย์"หอประชุมของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในระยะหลังจึงมาใช้หอประชุมของคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า"วันครู"ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" จากแนวความคิดนี้ กอรปกับคว่ทคอดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆที่ล้วนเรียกร้องให้มี"วันครู"เพื่อให้เป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่แประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มี "วันครู" เพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอในหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอีนดีระหว่างครูกับประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น"วันครู"โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือหนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา

ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ดังนี้

1.กิจกรรมทางศาสนา

2.พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

3.กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู สา่วนมากจะเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริง ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้กำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครูซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัดสำหรับส่วนภูมิภาคให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกันกับส่วนกลางจะรวมกันจัดที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้ รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง(หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประธานอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 1,000 รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานฝ่ายสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครู"อาวุโส"นอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ดังนี้
ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา(วสันตดิลกฉันท์) ประพันธ์ โดยพระวรเวทย์พิสิฐ(วรเวทย์ ศิวะศรียานนท์)
ข้าขอประนมกรกระพุ่ม
อภิวาทนาการ
กราบคุณอดุลคุรุประทาน
หิตเทิดทวีสรร
สิ่งสมอุดมคติประพฤติ
นรยึดประคองธรรม์
ครูชี้วิถีทุษอนันต์
อนุสาสน์ประภาษสอน
ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน
นะตระการสถาพร
ท่านแจ้งแสดงนิติบวร
ดนุยลอุบลสาร
โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร
ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล
ไป่เบื่อก็เพื่อดรุณชาญ
ลุฉลาดประสาทสรรพ์
บาปบุญก็สุนทรแถลง
ธุระแจงประจักษ์แจ้งครัน
เพื่อศิษย์สฤษดิ์คติจรัล
มนเทิดผดุงธรรม
ปวงข้าประดานิกรศิษย์
(ษ)ยะคิดระลึกคำ
ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ
อนุสรณ์เผดียงคุณ
โปรดอวยสุพิธพรเอนก
อดิเรกเพราะแรงบุญ
ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน
ทรศิษย์เสมอเทอญ ฯ
ปัญญาวุฒิกเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง

จากนั้นประธานจัดงานวันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ครูอาวุโสประจำการนำผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวคำปฏิญาณดังนี้

ข้อ 1.ข้าฯจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

ข้อ 2.ข้าฯจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

ข้อ 3.ข้าฯจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม จบแล้วพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการสุดท้ายกล่าวคำปราศัยและให้โอวาทแก่ครูที่มาประชุม

จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

1.เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

2.ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

3.ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้ง หน้าที่การงานไม่ได้

4.รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆอันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

5.ถือปฏิบัติตามกฎระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

6.ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริต หรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

7.ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำ ผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน

8.ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

9.สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและสถานศึกษา

10.รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน





วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้น e-commerce


ความรู้เบื้องต้น E-Commerce
E-business คืออะไร
e-Business นั้น คือ การดำเนินกิจกรรมทาง “ธุรกิจ”ต่างๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจ มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของคู่ค้า และลูกค้าให้ตรงใจ และรวดเร็วและเพื่อลดต้นทุน และขยายโอกาสทางการค้า และการบริการ เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลจะมีคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยๆ อาทิ
BI=Business Intelligence: การรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านตลาด ข้อมูลลูกค้า และ คู่แข่งขัน EC=E-Commerce: เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้เกิดการสั่งซื้อ การขาย การโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตCRM=Customer Relationship Management: การบริหารจัดการ การบริการ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจกับทั้งสินค้า บริการ และ บริษัท – ระบบ CRM จะใช้ไอทีช่วยดำเนินงาน และ จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริการลูกค้า SCM=Supply Chain Management: การประสาน ห่วงโซ่ทางธุรกิจ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดส่ง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จนถึงมือผู้บริโภค ERP=Enterprise Resource Planning: กระบวนการของสำนักงานส่วนหลัง และ การผลิต เช่น การรับใบสั่งซื้อการจัดซื้อ การจัดการใบส่งของ การจัดสินค้าคงคลัง แผนและการจัดการการผลิต– ระบบ ERP จะช่วยให้ประบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพและลดต้นทุน
E-Commerce คืออะไร
E-Commerce มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยความหมายของคำว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ให้คำนิยามไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีคำจำกัดความใดที่ใช้เป็นคำอธิบายไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีดังนี้
“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์” (ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, 2542)”
“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การผลิต การกระจาย การตลาด การขาย หรือการขนส่งผลิตภัณฑ์และบริการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์” (WTO, 1998)
“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ ธุรกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับองค์กรและส่วนบุคคล บนพื้นฐานของ การประมวลและการส่งข้อมูลดิจิทัลที่มีทั้งข้อความ เสียง และภาพ” (OECD, 1997)
จากความหมายของ e-business กับ e-commerce จะเห็นได้ว่าสองคำนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่อันที่จริงแล้วมีความหมายต่างกันโดย e-business สรุปความหมายได้ว่าคือการทำกิจกรรมทุกๆอย่าง ทุกขั้นตอนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขอบเขตกว้างกว่า แต่ e-commerce จะเน้นที่การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนตเท่านั้น จึงสรุปได้ว่า e-commerce เป็นส่วนหนึ่งของ e-business
ประเภทของ E-Commerce
ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business to Consumer - B2C)คือการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าซึ่งก็คือ

ผู้บริโภค เช่น การขายหนังสือ ขายวีดีโอ ขายซีดีเพลงเป็นต้น

ผู้ประกอบการ กับ ผู้ประกอบการ (Business to Business – B2B) คือการค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้าเช่นกัน แต่ในที่นี้ลูกค้าจะเป็นในรูปแบบของผู้ประกอบการ ในที่นี้จะครอบคลุมถึงเรื่อง การขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Management) เป็นต้น ซึ่งจะมีความซับซ้อนในระดับต่างๆกันไป

ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer to Consumer - C2C) คือการติดต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคนั้น มีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ เช่นเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่มีการบริโภคเหมือนกัน หรืออาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสองเป็นต้น

ผู้ประกอบการ กับ ภาครัฐ (Business to Government – B2G) คือการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ที่ใช้กันมากก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หรือที่เรียกว่า e-Government Procurement ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว รัฐบาลจะทำการซื้อ/จัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่นการประกาศจัดจ้างของภาครัฐในเว็บไซต์ http://www.mahadthai.com/

ภาครัฐ กับ ประชาชน (Government to Consumer -G2C)ในที่นี้คงไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่นการคำนวณและเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต, การให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เช่นข้อมูลการติดต่อการทำทะเบียนต่างๆของกระทรวงมหาดไทย ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้นๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วย



ประวัติวิวัฒนาการของ e-cmomerce



ประวัติวิวัฒนาการอีคอมเมิร์ซโดยสังเขป
การค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นเริ่มขึ้นบนโลกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2513 ซึ่งได้มีการเริ่มใช้ระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเอฟที (EFT = Electronic Fund Transfer) แต่ในขณะนั้นมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเท่านั้นที่ใช้งานระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาอีกไม่นานก็เกิดระบบการส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีดีไอ (EDI = Electronic Data Interchange) ซึ่งสามารถช่วยขยายการส่งข้อมูลจากเดิมที่เป็นข้อมูลทางการเงินอย่างเดียวเป็นการส่งข้อมูลแบบอื่นเพิ่มขึ้น เช่น การส่งข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ผลิต หรือผู้ค้าส่งกับผู้ค้าปลีก เป็นต้นหลังจากนั้นก็มีระบบสื่อสารรวมถึงโปรแกรมอื่นๆ เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ระบบที่ใช้ในการซื้อขายหุ้นจนไปถึงระบบที่ช่วยในการสำรองที่พัก ซึ่งเรียกได้ว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการสื่อสาร และเมื่อยุคของอินเตอร์เนตมาถึงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2533 จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เนตก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้เกิดขึ้น เหตุผลที่ทำให้ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างรวดเร็วคือโปรแกรมสนับสนุนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมามากมาย รวมถึงระบบเครือข่ายด้วย พอมาถึงประมาณปี พ.ศ. 2537 – 2542 ก็ถือได้ว่าระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซก็เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งวัดได้จากการที่มีบริษัทต่างๆ ในอเมริกาได้ให้ความสำคัญและเข้าร่วมในระบบอีคอมเมิร์ซอย่างมากมาย
ประเภทของอีคอมเมิร์ซ
มีการแบ่งประเภทอีคอมเมิร์ซกันหลายแบบ เช่น แบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 5 ประเภท แบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 3 ประเภท แบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 6 ส่วน และแบ่งอีคอมเมิร์ซตามประเภทสินค้าเป็น 2 ประเภท เป็นต้น
อีคอมเมิร์ซ 5 ประเภท ถ้าจะแบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 5 ประเภทก็ได้ดังต่อไปนี้
(1) ธุรกิจกับผู้ซื้อปลีกหรือบีทูซี (B-to-C = Business-to-Consumer) คือประเภทที่ผู้ซื้อปลีกใช้อินเตอร์เนตในการซื้อสินค้าจากธุรกิจที่โฆษณาอยู่ในอินเตอร์เนต

(2) ธุรกิจกับธุรกิจหรือบีทูบี (B-to-B = Business-to-Business) คือ ประเภทที่ธุรกิจกับธุรกิจติดต่อซื้อขายสินค้ากันผ่านอินเตอร์เนต

(3) ธุรกิจกับรัฐบาลหรือบีทูจี (B-to-G = Business-to-Government) คือประเภทที่ธุรกิจติดต่อกับหน่วยราชการ

(4) รัฐบาลกับรัฐบาลหรือจีทูจี (G-to-G = Government to Government) คือ ประเภทที่หน่วยงานรัฐบาลหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งติดต่อกับหน่วยงานรัฐบาลอีกหน่วยงานหนึ่ง

(5) ผู้บริโภคกับผู้บริโภคหรือซีทูซี (C-to-C = Consumer-to-Consumer) คือ ประเภทที่ผู้บริโภคประกาศขายสินค้าแล้วผู้บริโภคอีกรายหนึ่งก็ซื้อไป เช่นที่อีเบย์ดอทคอม(Ebay.com) เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินให้กันทางบัตรเครดิตได้อีคอมเมิร์ซ 3 ประเภท

ถ้าจะแบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 3 ประเภทก็อาจจะแบ่งได้ ดังต่อไปนี้

(1)อีคอมเมิร์ซระหว่างผู้บริโภคกับธุรกิจ หรือ บีทูซี (B-to-C = Business-to-Consumer) ซึ่งอาจจะมีตัวอย่างดังต่อไปนี้ - การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับธุรกิจโดยใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กลุ่มสนทนา กระดานข่าว เป็นต้น - การจัดการด้านการเงิน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจัดการเรื่องการเงินส่วนตัว เช่น ฝาก-ถอน เงินกับธนาคาร ซื้อขายหุ้นกับผู้ค้าหุ้น เช่น อีเทรด (www.etrade.com) เป็นต้น - ซื้อขายสินค้าและข้อมูล ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อขายสินค้าและข้อมูลผ่านอินเตอร์เนตได้โดยสะดวก

(2)อีคอมเมิร์ซภายในองค์กรหรือแบบอินทราออร์ก (Intra-Org E-commerce) คือ การใช้อีคอมเมิร์ซในการช่วยให้บริษัทหรือองค์ใดองค์กรหนึ่งสามารถปรับปรุงการทำงานภายในและให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ - การติดต่อสื่อสารภายในองค์กรจะสะดวกรวดเร็วจะได้ผลดีขึ้น โดยใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ และป้ายประกาศ เป็นต้น - การจัดพิมพ์เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีพับลิซซิง (Electronic Publishing) ช่วยให้บริษัทสามารถออกแบบเอกสาร จัดพิมพ์เอกสาร และแจกจ่ายเอกสารได้สะดวกรวดเร็ว และใช้ค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ว่าจะเป็นคู่มือข้อกำหนดสินค้า (Product Specifications) รายงานการประชุม เป็นต้น ทั้งนี้โดยผ่านเว็บ - การปรับปรุงประสิทธิภาพพนักงานขาย การใช้อีคอมเมิร์ซแบบนี้ช่วยปรับปรุงการสื่อสารระหว่างฝ่ายผลิตกับฝ่ายขาย และระหว่างฝ่ายขายกับลูกค้า ทำให้ได้ประสิทธิภาพดีขึ้น

(3)อีคอมเมิร์ซระหว่างองค์กรหรือแบบอินเตอร์ออร์ก (Inter-Org E-commerce) ซึ่งก็คือแบบเดียวกับแบบที่เรียกว่าบีทูบี (Business to Business) ทั้งนี้โดยมีตัวอย่างต่อไปนี้ - การจัดซื้อ ช่วยให้จัดซื้อได้ดีขึ้น ทั้งด้านราคา และระยะเวลาการส่งของ - การจัดการสินค้าคงคลัง - การจัดส่งสินค้า - การจัดการช่องทางขายสินค้า - การจัดการด้านการเงิน
อีคอมเมิร์ซ 6 ส่วน

ถ้าจะแบ่งอีคอมเมิร์ซเป็น 6 ส่วนก็แบ่งได้ดังต่อไปนี้
(1)การขายปลีกทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเทลลิ่ง (E-tailing= Electronic Retailing) หรือร้านค้าเสมือนจริง (Virtual Storefront) ยอดขายปลีกอิเล็กทรอนิกส์ในอเมริกาใน ค.ศ. 1999 มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท (2)การวิจัยตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือมาร์เก็ตอีรีเซิร์ช (Market E-research) คือการใช้อินเตอร์เนตในการวิจัยตลาดแบบเดียวกับที่สำนักวิจัยเอแบค-เคเอสซีอินเตอร์เนตทำอยู่ จากการใช้อินเตอร์เนตนี้ บริษัทห้างร้านสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าปัจจุบัน และผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้าในอนาคต ทั้งจากการลงทะเบียนเข้าใช้เว็บ จากแบบสอบถามและจากการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า การวิจัยตลาด อินเตอร์เนตก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซ

(3)อินเตอร์เนตอีดีไอ หรือการส่งเอกสารตามมาตรฐานอีดีไอโดยใช้อินเตอร์เนต ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลงก็ถือว่าเป็นอีคอมเมิร์ซประเภทหนึ่ง

(4)โทรสารและโทรศัพท์อินเตอร์เนต การใช้โทรสารและโทรศัพท์ทางไกลผ่านอินเตอร์เนตหรือ วีโอไอพี (VoIP= Voice over IP) นั้นมีราคาต่ำกว่าการใช้โทรสารและโทรศัพท์ธรรมดา และอาจจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซ

(5) การซื้อขายระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทต่างๆ จำนวนมากในปัจจุบันติดต่อซื้อขายสินค้ากันโดยผ่านเว็บในอินเตอร์เนต ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซ

(6) ระบบความปลอดภัยในอีคอมเมิร์ซ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการใช้วิธีต่างๆ เช่น เอสเอสแอล (SSL= Secure Socket Layer) เซ็ต (SET = Secure Electronic Transaction) อาร์เอสเอ (RSA = Rivest, Shamir and Adleman) ดีอีเอส (DES= Data Encryptioon Standard) และดีอีเอสสามชั้น (Triple DES) เป็นต้น
อีคอมเมิร์ซ 2 ประเภทสินค้า

ถ้าจะแบ่งอีคอมเมิร์ซตามประเภทสินค้าก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
(1)สินค้าดิจิตอล เช่น ซอฟท์แวร์ เพลง วิดีโอ หนังสือ ดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งสามารถส่งสินค้าได้โดยผ่านอินเตอร์เนต

(2)สินค้าที่ไม่ใช่ดิจิตอล เช่น สินค้าหัตถกรรม สินค้าศิลปชีพ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องประดับ เครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งต้องส่งสินค้าทางพัสดุภัณฑ์ ผ่านไปรษณีย์หรือบริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์
แนวคิดของอีคอมเมิร์ซ จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ คือ
(1) Customer Relationship Management (CRM) การบริหารความสัมพันธ์ของลูกค้าเพราะลูกค้าคือส่วนสำคัญที่สุดและเป็นส่วนที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ บริษัทไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ถ้าขาดความเชื่อมั่นจากลูกค้า เพราะฉะนั้นการปรับปรุงการโต้ตอบระหว่างลูกค้ากับกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจ ที่เป็นกระบวนการย่อยซึ่งจะส่งผลต่อลูกค้าโดยรวม

(2) Supply Chain Management (SCM) เป็นแนวคิดการผสานกลไกทางธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่การนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต จนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้า ช่วยให้บริษัทสร้างระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร สินค้า และการบริการ ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยระบบงานภายในและภายนอกบริษัท (3) Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นการวางแผนบริหารทรัพยากรภายในองค์กร โดยการมุ่งเน้นที่จะปรับปรุงระบบการดำเนินงานและการพัฒนาบุคลากรขององค์กร เพื่อให้องค์กรมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการผสานกลยุทธ์ทางธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากรเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน


หลักการด้าน e-commerce

หลักการด้านอีคอมเมิร์ซ
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซคือ การค้าขายผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เนต อินเตอร์เนตจะเปลี่ยนวิถีทางการดำรงชีวิตของทุกคน อินเตอร์เนต จะเปลี่ยนวิธีการศึกษาหาความรู้ อินเตอร์เนตจะเปลี่ยนวิธีการทำมาค้าขาย อินเตอร์เนตจะเปลี่ยนวิธีการหาความสุขสนุกสนาน อินเตอร์เนตจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างจะรวมกันเข้ามาหาอินเตอร์เนต กล่าวกันว่าในปัจจุบันนี้ถ้าบริษัทห้างร้านใดไม่มีหน้าโฮมเพจในอินเตอร์เนตบริษัทห้างร้านนั้นก็ไม่มีตัวตน นั่นคือไม่มีใครรู้จัก เมื่อไม่มีใครรู้จักก็ไม่มีใครทำมาค้าขายด้วย แล้วถ้าไม่มีใครทำมาค้าขายด้วยก็อยู่ไม่ได้ต้องล้มหายตายจากไป ว่ากันว่าอินเตอร์เนตคือแหล่งข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่งก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินค้า ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายผู้ผลิต ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการที่จะซื้อสินค้ากันมากขึ้น เช่นการเข้าไปเลือกซื้อจากในเว็บไซต์ มีการเข้าไปเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนที่จะซื้อ หากจะกล่าวว่า “ข่าวสาร” คืออำนาจ ในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคก็ได้รับการติดอาวุธอย่างใหม่ที่มีอำนาจมากพอที่จะต่อรองกับผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้าได้ผลดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ในการทำอีคอมเมิร์ซนั้นไม่ใช่เพียงแค่เป็นเว็บเพจหรือช่องทางการจำหน่ายสินค้า แต่อีคอมเมิร์ซยังมีความหมายรวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาที่ต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับผู้บริโภค และผู้ค้าส่ง สำนักวิจัยไอดีซี (IDC) ได้ประมาณรายได้ของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B-to-B) ว่าเพิ่มขึ้นจาก 80 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,200 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2542 เป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 40 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2546

คำจำกัดความของอีคอมเมิร์ซ
คำจำกัดความของอีคอมเมิร์ซนั้นได้มีผู้ให้นิยามไว้ต่างๆ กันอันเนื่องมาจากมองในแง่มุมที่แตกต่างกัน ถ้าถามอาจารย์สามคนว่าอีคอมเมิร์ซคืออะไร ก็คงได้คำตอบสี่คำตอบ คือแต่ละคนให้คำตอบคนละคำตอบ แล้วเมื่อมาประชุมปรึกษาหารือกันก็ตกลงกันเป็นอีกคำตอบหนึ่ง ถ้าถามนักอินเตอร์เนตหรือที่เรียกกันว่าอินเตอร์นอต (Internaut แบบเดียวกับ Asternaut) ก็อาจจะได้คำตอบว่า อีคอมเมิร์ซคือระบบการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนตถ้าถามนักสื่อสารก็อาจจะได้คำตอบว่า อีคอมเมิร์ซคือการใช้ระบบสื่อสารในการส่งโฆษณา สินค้าและบริการไปให้ลูกค้า การใช้ระบบสื่อสาร โดยลูกค้าสั่งซื้อสินค้าและการจ่ายเงิน ถ้าถามผู้ให้บริการก็อาจจะได้คำตอบว่า อีคอมเมิร์ซคือการให้บริการให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า ให้บริการผู้ซื้อได้ดูโฆษณาเลือกหาสินค้า และให้บริการเจ้าของกิจการได้ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าและให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า ถ้าถามนักเทคโนโลยี ก็อาจจะได้คำตอบว่า อีคอมเมิร์ซคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขาย สรุปอย่างง่ายๆ โดยสังเขปก็อาจจะได้ความว่า อีคอมเมิร์ซ ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบการจัดตั้งร้านค้าหรือทำหน้าโฆษณาที่เรียกว่าโฮมเพจหรือเว็บเพจบนอินเตอร์เนต


(2) ผู้ซื้อเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าในอินเตอร์เนต


(3) ผู้ซื้อติดต่อสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย เช่น ของดีจริงหรือไม่ ส่งได้รวดเร็วเท่าใด มีส่วนลดหรือไม่ เป็นต้น


(4) ผู้ซื้อสั่งสินค้าและระบุวิธีจ่ายเงิน เช่น โดยผ่านบัตรเครดิต เป็นต้น


(5) ธนาคารตรวจสอบว่าผู้ซื้อมีเครดิตดีพอหรือไม่และแจ้งให้ผู้ขายทราบ


(6) ผู้ขายส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ


(7) ผู้ซื้ออาจจะใช้อินเตอร์เนตในการติดต่อขอบริการหลังการขายจากผู้ขาย

http://www.atii.th.org/html/ecom.html

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

..นิดนึง..

ภาพงานปีใหม่2553

งานปีใหม่2553 ณ สนามหลวง


งานปีใหม่2553 ณ สนามหลวง


งานฉลองเทศกาลปีใหม่ 2553 สนามหลวง 30 ธันวาคม 2552-9 มกราคม 2553 ณ บริเวณท้องสนามหลวงและพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
ที่มาภาพ : http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_11331.jpgกทม.จัดงานปีใหม่ชวนประชาชนร่วมทำบุญตักบาตร สักการะพระพุทธนวราชบพิตร ที่สนามหลวง พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย นั่งรถรางไหว้พระ 9 วัดกทม.กำหนดจัดงานเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2553 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้องประชาชนชาว กทม.และนักท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.2552-9 ม.ค.2553 บริเวณท้องสนามหลวงและพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย - 30 ธ.ค.52 -1 ม.ค. 53 อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร จากศาลาว่าการ กทม.ไปประดิษฐานบนมณฑป ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.-1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 52 ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. พบกับกิจกรรมการแสดงและมหรสพ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ การแสดงโขน ชุดรามราชจักรี และละครนอกจากกรมศิลปากร ลิเกคณะบุญเลิศ ศิษย์หอมหวล ดนตรีลูกทุ่ง ลานการละเล่นย้อนยุคสำหรับเด็ก การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และซุ้มอาหารจาก 50 สำนักงานเขต การจับสลากชิงรางวัลจักรยาน จำนวน 53 คัน สำหรับผู้มาร่วมงานที่ร่วมตอบแบบสอบถาม- เช้าวันที 1 ม.ค.2553 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ เวลา 07.00 น. กทม.จัดพิธีทำบุญตักบาตร นิมนต์พระราชาคณะ 10 รูปมาเจริญพระพุทธมนต์ และพระภิกษุสามเณร จำนวน 180 รูป มาบิณฑบาต ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง - 1 ม.ค.53 เวลา 08.00 น. เริ่มพิธีปล่อยขบวนรถราง "ไหว้พระ 9 วัด" ซึ่ง กทม.ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดรถรางจำนวน 4 คัน อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการร่วมกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เปิดให้บริการระหว่างวันที่ 1-9 ม.ค.53 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.52- 1 ม.ค.53 เขตพระนครจัดกิจกรรมที่เน้นวิถีไทยในอดีต ณ สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายประกอบด้วย ขบวนวัฒนธรรมวิถีความเป็นไทย ขบวนแห่เครื่องราชบรรณาการ 3 สมัย อันได้แก่ สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กิจกรรมลงนามถวายพระพรในการ์ด นิทรรศการ "เรื่องเก่า เล่าด้วยภาพ" บอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพในอดีตของเมืองพระนคร กิจกรรมจำลองวิถีชีวิตย้อนยุค กิจกรรมออกร้านสาธิตศิลปหัตถกรรมไทย เวทีเสวนา "เล่าขานตำนานพระนคร" กิจกรรมบนบาทวิถีของศิลปินอิสระ (Street Show) กิจกรรมเต้นร่วมสมัย (B-Boy) ลานวาดภาพศิลปินอิสระ การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังมากมาย ตลอดจนซุ้มเกมต่างๆ การแสดงพลุกลางแม่น้ำเจ้าพระยา การแสดงประติมากรรมโคมไฟอันวิจิตรงดงามกทม.ยังได้ประดับตกแต่งไฟฟ้าบนทางเดิน Sky Walk บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และจัดการแสดงประเภท Street Performances ตั้งแต่บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติไปจนถึงมณียาพลาซ่า ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.2552-15 ม.ค.2553 เพื่อส่งความสุขให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. โทร.0-2225-7616ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

อาชีพของคนอีสาน


อาชีพของภาคอีสาน
อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ เพราะดินของภาคอีสานเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำและการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน บางปีมีน้ำมาก บางปีไม่มีน้ำเลย พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ จึงจะพบว่าพอถึงหน้าแล้งประชาชนจะอพยพไปหางานทำต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ถึงฤดูฝนประชาชนก็ไม่ได้เตรียมการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ให้เป็นที่แพร่หลายกัน เว้นแต่เก็บน้ำฝนไว้ดื่มกินเท่านั้น การขาดแคลนน้ำในภาคนี้ทำให้ไม่ค่อยมีการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทำให้ผลผลิตมีน้อยเป็นเหตุให้ประชากรในภูมิภาคนี้มีความยากจนเป็นส่วนมาก ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทำให้เกิดโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการอีสานเขียว ความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้น โดยการหาและสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพ ปรับปรุงด้านสุขภาพอนามัย สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาคือพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว เพราะข้าวต้องการน้ำมาก แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว แต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยการปลูกหญ้าให้เป็นอาหารสัตว์นั้นยังทำกันไม่ค่อยแพร่หลายในภาคนี้ การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ค่อยได้ผล สำหรับงานฝีมือ เช่น การทอผ้าไหมและการจักสานในภาคนี้ทำกันได้ดีมีฝีมือประณีต แต่การทำในลักษณะที่เป็นกิจการใหญ่โตทำครั้งละมาก ๆ เพื่อการค้ายังไม่เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชน เนื่องจากความขัดสนในพื้นที่ผู้คนในภาคนี้จึงได้ดิ้นรนไปหางานทำกันในภาคอื่น ส่วนมากไปในลักษณะการบุกเบิกหาที่ทำกินใหม่ เรียกว่า " หานาดี " ในภายหลังการหานาดีก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่จะให้บุกเบิกใหม่ ส่วนใหญ่จึงไปทำงานรับจ้างในที่ต่าง ๆ และไปกันถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ บรูไน และในประเทศเขตทะเลทรายตะวันออกกลาง ปัญหาของภูมิภาคนี้คือการหาหนทางปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาค สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เข้ากับสภาพทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์และตั้งโรงงานที่รองรับผลิตผล เหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มาก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ขยับขยายไปตั้งยังภาคอีสานมากขึ้น ซึ่งแหล่งซื้อแรงงานจากชาวอีสานแหล่งใหญ่ ทำให้ชาวอีสานไม่ต้องจากถิ่นฐานไปหางานทำต่างถิ่นเหมือนอย่างเคย แต่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกับการก่อปัญหาต่างๆมากมายต่อชุมชน ทั้งปัญหามลพิษ ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป และได้ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมๆของชาวอีสานไปอย่างสิ้นเชิง โครงการต่างๆที่รัฐพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชาวอีสาน เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้บ้าง แต่มักจะแก้ไม่ได้มากนักทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วโครงการต่างๆเหล่านี้จะขาดการช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากส่วนราชการ เรียกว่าเป็นการดำเนินโครงการตามกระแสมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินการอย่างยั่งยืน แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งได้พลิกพื้นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการให้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษืวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

การแต่งกายของภาคอีสาน

การแต่งกายของภาคอีสาน
ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากร วัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ ของประเทศ แต่ก็สามารถหาชมการแต่งกายของชาวอีสานแบบดั้งเดิมได้ตามหมู่บ้านในชนบท ซึ่งประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม

การแสดงภาคอีสาน


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูติผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้นเซิ้งสวิง
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรี ที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงชุดเซิ้งสวิง ได้แก่ กลองยาว กลองแต๊ะ แคน ฆ้องโหม่ง กั๊บแก๊บ ฉิ่ง ฉาบ กรับ การแต่งกายชาย สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว มือถือตะข้อง หญิง นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอก ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอ ปลายแขน และขลิบผ่าอกตลอดแนวด้วยผ้าสีตัดกัน เช่น สีเขียวขลิบแดง หรือสวมเสื้อกระบอกคอปิด ผ่าอก ห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้อ สวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะ ทัดดอกไม้ มือถือสวิง
เซิ้งโปงลาง
โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้หรือโลหะ ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว ยกเว้นวัวต่างเพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวนผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป ทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทางส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้ พบมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า "ขอลอ" หรือ "เกาะลอ" ดังเพลงล้อสำหรับเด็กว่า "หัวโปก กระโหลกแขวนคอ ตีขอลอดังไปหม่องๆ" ชื่อ "ขอลอ" ไม่ค่อยไพเราะจึงมีคนตั้งชื่อใหม่ว่า "โปงลาง" และนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม้ที่นำมาทำเป็นโปงลางที่นิยมกันได้แก่ ไม้มะหาด และไม้หมากเหลื่อม การเล่นทำนองดนตรีของโปงลางจะใช้ลายเดียวกันกับ แคน และพิณ ลายที่นิยมนำมาจัดท่าประกอบการฟ้อน เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้นเครื่องแต่งกาย ใช้ผู้แสดงหญิงล้วนสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้ามัดหมี่ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่ ผูกโบว์ตรงเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายโปงลางหรือลายอื่นๆ
เซิ้งตังหวาย
เซิ้งตังหวาย เป็นการรำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีขอขมาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังนิยมแสดงในงานนักขัตฤษ์และต้อนรับแขกผู้มีเกียรติของภาคอีสาน ครูนาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด กรมศิลปากร ได้ประยุกต์และจัดกระบวนรำขึ้นใหม่ รวม 12 ท่า จากท่ารำแม่บทอีสาน โดยผู้แสดงแต่งกายห่มผ้าคาดอก นุ่งซิ่นฝ้ายมัดหมี่มีเชิง เกล้าผมสูงเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้บรรเลงประกอบ คือ โปงลาง แคน พิณ ซอ กั๊บแก๊บ ฉิ่ง และฉาบ
เซิ้งกระหยัง
เป็นชุดฟ้อนที่ได้แบบอย่างมาจากเซิ้งกระติบข้าว โดยเปลี่ยนจากกระติบข้าวมาเป็นกระหยัง ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกระบุงแต่มีขนาดเล็กกว่า เซิ้งกระหยัง เป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวกาฬสินธุ์ โดยอำเภอกุฉินารายณ์ได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยดัดแปลงและนำเอาท่าฟ้อนจากเซิ้งอื่นๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาละวัน ฯลฯ เข้าผสมผสานกันแล้วมาจัดกระบวนขึ้นใหม่มีอยู่ 19 ท่า ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ท่าไหว้ ท่าไท ท่าโปรยดอกไม้ ท่าขยับสะโพก ท่าจับคู่ถือกะหยัง ท่านั่งเกี้ยว ท่าสับหน่อไม้ ท่ายืนเกี้ยว ท่ารำส่าย ท่าเก็บผักหวาน ท่ากระหยังตั้งวง ท่าตัดหน้า ท่าสาละวัน ท่ากลองยาว ท่ารำวง ท่าชวนกลับ ท่าแยกวง ท่านั่ง ที่ได้ชื่อว่าเซิ้งกระหยังเพราะผู้ฟ้อนจะถือกระหยังเป็นส่วนประกอบในการแสดงเครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ หรือน้ำเงินขลิบขาว นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะเครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานซึ่งประกอบด้วย กลองยาว ฉาบ และฉิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ใช้แคน พิณ ปี่แอ้ เป็นเครื่องดำเนินทำนอง อุปกรณ์การแสดง กระหยัง
เซิ้งกะโป๋
เป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนานเป็นหลักโดยใช้กะโป๋ หรือ กะลามะพร้าว เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเล่น เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศต่างๆ ในแถบเอชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปิน อินโดนีเซีย โดยเฉพาะมาเลเซีย มีการละเล่นซึ่งใช้กะลาประกอบอยู่ ซึ่งเมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวชาวมาเลย์ก็จะมีการรื่นเริงและฉลองกัน บ้างก็ช่วยกันขูดมะพร้าวและตำน้ำพริก จึงได้นำเอากะลามะพร้าวมาเคาะประกอบจังหวะกันเป็นที่สนุกสนาน ระบำกะลาของมาเลเซียมีชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า "เดมปุรง" หรือแม้แต่ประเทศกัมพูชาก็มีการละเล่นที่ใช้กะลาเป็นอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เซิ้งกะโป๋คงได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาที่นิยมเล่นกันในกัมพูชาและแถบอีสานใต้ ระบำกะลามีจังหวะเนิบนาบ จึงมีการปรับปรุงใหม่โดยใช้เพลงพื้นเมืองอีสาน และยังนำเอาเพลงพื้นเมืองของอีสานใต้มาใช้ประกอบอยู่คือเพลง เจรียงซันตรูจเครื่องแต่งกาย เซิ้งกะโป๋จะแบ่งผู้แสดงออกเป็น 2 ฝ่าย คือ หญิงและชาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองอีสาน สวมเสื้อแขนกระบอก เกล้าผมมวยใช้แพรมนรัดมวย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าผูกเอวเครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน แต่เล่นลายพื้นเมืองของอีสานใต้คือ เจรียงซันตรูจเซิ้งกะโป๋ หรือ เซิ้งกะลา นี้มีผู้ประดิษฐ์จัดทำเป็นชุดฟ้อนที่แตกต่างกันออกไป เช่น• วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จะใช้ลีลาการกระทบกะลาที่ไม่คล้ายกับระบำกะลาของอีสานใต้มากนัก และนำการละเล่นของพื้นเมืองของเด็กอีสานมาประกอบ เช่น การเดินกะโป๋ หรือ หมากกุ๊บกั๊บ ฯลฯ • วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จะใช้ลีลาการกระทบกะลา ซึ่งพอจะเห็นเค้าว่าได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาของอีสานใต้ แต่งกายเช่นเดียวกับระบำกะลา คือฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คล้องสไบผูกชายที่เอว ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าพับทบด้านหน้า ทิ้งชายด้านหลัง
ฟ้อนผู้ไท(ภูไท)
เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บเครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทนเครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงผู้ไท เพลงเต้ยโขง เพลงแมงตับเต่า เพลงบ้งไต่ขอน เพลงลำเพลินและเพลงลำยาว
เซิ้งกระติบข้าว
เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้าในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร ? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวาเครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้งอุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว
หมากกั๊บแก๊บลำเพลิน
การเล่นหมากกั๊บแก๊บ เป็นการเล่นที่ไม่มีขนบตายตัว สุดแท้แต่ผู้แสดงจะมีความสามารถ แสดงออกลีลา ท่าทางที่โลดโผน เป็นที่ประทับใจสาว ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเล่นกันเป็นคู่ ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับ แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ตามแต่โอกาสและปฏิภาณไหวพริบของผู้เล่น โดยอาจารย์ชุมเดช เดชภิมล แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ผสมผสานการเล่นหมากกั๊บแก๊บ เข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน ที่ยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก๊บและลีลาของการฟ้อนลำเพลินได้อย่างสมบูรณ์แบบ จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่จังหวะ ลีลาและท่วงทำนอง ของดนตรี อันสนุกสนานเร้าใจ

คนอีสาน

คนอีสาน
ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพราะมีพรมแดนอยู่ติดกับหลายชาติอีกทั้งมีการอพยพของประชาชนจากถิ่นอื่นๆทั้งในและนอกประเทศมาตั้งรกรากอยู่ภาคอีสานเป็นเวลานาน บวกกับประชากรที่อาศัยอยู่เดิมที่ก็มีความหลากหลายมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษแล้ว ทำให้ยิ่งมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ประชากรที่ของภาคอีสานมีหลายเผ่าพันธุ์ ที่มีมากที่สุดก็คงเป็นชาวไทอีสาน คือชาวคนอีสานที่พบได้ทั่วไป(ในอดีตคงหมายถึงชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือชุมชนใหญ่ๆ--ผู้เขียน) และพบมากที่สุดในภาคอีสานเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินอีสาน ชาวผู้ไทเดิมมาจากคำว่า พุไท หรือ วุไท ซึ่งหมาย ถึงคนเผ่าไทกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสอง วุไท และอาณาจักรล้านช้างมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาในภาคอีสานหลายครั้งและจากที่ต่าง ๆกันและแยกย้ายกันไปอาศัยอยู่ในส่วนต่างๆของพื้นดินอีสาน(ส่วนใหญ่เป็นอีสานตะวันออก) แถบจังหวัดสกลนคร นครพนม(ที่เด่นมากคือ ผู้ไทเรณู) และจังหวัดมุกดาหาร และชาวอีสานเผ่าอื่นๆอีกมากมายที่พบในเขตภาคอีสานซึ่งมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่น่าสนใจเป็นอย่างยี่ง ( อ่านเพิ่มเติมที่นี่...ี่>>>)

ประเพณีอีสาน



ประเพณีอีสานอีสาน
ประเพณีของชาวอีสานมีความหลากหลายและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ประเพณีส่วนใหญ่จะเกิดจากความเชื่อ ค่านิยม และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น และอิทธิพลของศาสนาที่มีต่อคนในท้องถิ่น ประเพณีต่างๆถูกจัดขึ้นเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพและเพื่อถ่ายทอดแนวความคิด ค่านิยมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร เกิดจากการที่คนในท้องถิ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เชื่อว่าการจุดบั้งไฟจะทำให้ผญาแถนดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เพราะจังหวัดนี้ติดแม่น้ำโขงและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงมาตลอด จึงอยากขอบคุณพระแม่คงคาประจำลำน้ำโขงที่ได้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่สังคมริมฝั่งโขง ดังนั้นจึงจัดประเพณีไหลเรือไฟขึ้นมา งานบุญงานประเพณีต่างๆที่ชาวอีสานในท้องถิ่นต่างๆจัดขึ้นนับว่าเป็นสื่อที่ดีในการถ่ายถอดแนวความ ค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา วิถีการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ
เทศกาลงานประเพณีที่น่าสนใจ

งานแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี
งานบุญบั้งไฟ
งานไหลเรือไฟ

ภาษาอีสาน

ภาษาอีสาน

ภาษาพูดของคนอีสานในแต่ละท้องถิ่นนั้นจะมีสำเนียงที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับถิ่นใดรวมทั้งบรรพบุรุษของท้องถิ่นนั้นๆด้วย เช่น แถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มีชายแดนติด กับเขมร สำเนียงและรากเหง้าของภาษาก็จะมีคำของภาษาเขมรปะปนอยู่ด้วย ทางด้านจังหวัด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย เลย ที่ติดกับประเทศลาวและมีชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ค่อนข้างมากก็จะมีอีกสำเนียงหนึ่ง ชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ ก็จะมีสำเนียงที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและยังคงรักษาเอกลักษณ์นั้นไว้ ตราบจนปัจจุบัน เช่น ชาวภูไท ในจังหวัดมุกดาหารและนครพนม ถึงแม้ชาวอีสานจะมีภาษาพูดที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ในภาษาอีสานก็มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงมีความคล้ายกันก็คือ ลักษณะของคำและความหมายต่างๆ ที่ยัง คงสื่อความถึงกันได้ทั่วทั้งภาค ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอีสานต่างท้องถิ่นกันสามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดี ถ้าจะถามว่าภาษาถิ่นแท้จริงของชาวอีสานใช้กันอยู่ที่ใดคงจะตอบไม่ได้ เพราะภาษาที่คนในท้องถิ่นต่างๆใช้กันก็ล้วนเป็นภาษาอีสานทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นภาษาที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีรากศัพท์ในการสื่อความหมายที่คล้ายคลึงกัน ในปัจจุบันชาวอีสานตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นได้หันมาใช้ภาษาไทยกลางกันมากขึ้น เพราะวัยรุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาที่ดีเทียบเท่ากับคนในภาคกลางหรือกรุงเทพมหานคร ทำให้ภาษาอีสานเริ่มลดความสำคัญลง เช่นเดียวกันกับภาษาพื้นเมืองของภาคอื่นๆ แต่ผู้คนตามชนบทและคนเฒ่าคนแก่ยังใช้ภาษาอีสานกันเป็นภาษาหลักอยู่ ทั้งนี้คนอีสานส่วนใหญ่จะสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอีสานของท้องถิ่นตนเองและภาษาไทยกลาง หากท่านเดินทางไปในชนบทของอีสานจะพบการใช้ภาษาถิ่นที่แตกต่างกันไปดังที่กล่าวมาแล้ว แต่คนอีสานเหล่านี้โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวก็จะสามารถสื่อสารกับท่านเป็นภาษาไทยกลางได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะวัยรุ่นชาวอีสานใหญ่จะเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อก่อนจะไปหางานทำเฉพาะหลังฤดูทำนา แต่ในปัจจุบันวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเข้ากรุงเทพฯและทำงานที่นั่นตลอดทั้งปี ชาวอีสานที่ไปต่างถิ่นนอกจากจะหางานทำแล้ว ก็ยังมีการเผยแพร่วัฒนธรรมรวมทั้งภาษาของตนเองไปในตัว จะเห็นได้จากในปัจจุบันชาวไทยจำนวนมากเริ่มเข้าใจภาษาอีสาน ทั้งจากเพลงลูกทุ่งภาษาอีสานที่ได้รับความนิยมกันทั่วประเทศและจากคนรอบตัวที่เป็นคนอีสาน ทำให้ภาษาอีสานยังคงสามารถสืบสานต่อไปได้อยู่ถึงแม้จะมีคนอีสานบางกลุ่มเลิกใช้

อาหารของชาวอีสาน



อาหารอีสาน

. หากจะกล่าวถึงอาหารการกินของคนอีสาน หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยและได้ลิ้มชิมรส กันมาบ้างแล้ว ชาวอีสานมีวถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสาน อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆเพียง 2-3 จาน ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลักพวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลาหรือเนื้อวัวเนื้อควาย ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้นไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้วจะออกรสชาติไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว เครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน ถ้าจะกล่าวว่าชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมีปลาร้าไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา


ลักษณะการปรุงอาหารพื้นเมืองอีสาน

ลาบ เป็นอาหารประเภทยำที่มีเนื้อมาสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า พริก ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี รับประทานกับผักพื้นเมือง นิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่

ก้อย เป็นอาหารประเภทยำที่จะนำเนื้อย่างมาหั่นเป็นชิ้นๆผสมกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่ ทานกับผักสดนานาชนิด

ส่า เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำหนังหมู เนื้อหมูย่างสับมาผสมกับหัวปลี วุ้นเส้น แซ หรือ แซ่ เป็นอาหารประเภทยำที่นำเนื้อสดๆมาปรุงนิยมใช้กับเนื้อวัวและหมู คล้ายๆลาบแต่มักใส่เลือดสดๆด้วย กินกับผักสดตามชอบ คนโบราณนิยมกินเพราะเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล

อ่อม เป็นอาหารประเภทแกงแต่มีน้ำน้อยมีผัก พื้นเมืองหลายชนิดนิยมใช้กับเนื้อ ไก่และปลาหรือเนื้อกบเนื้อเขียดหรือเนื้อสัตว์อื่นๆแต่เน้นที่ปริมาณผักอ๋อ ลักษณะคล้ายอ่อมแต่ไม่ใส่ผัก(ใส่เพียงต้นหอม ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบแมงลัก) นิยมใช้ปลาตัวเล็ก กุ้ง หรือไข่มดแดงปรุง ใส่น้ำพอให้อาหารสุก

หมก เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบตองห่อนิยม ใช้กับเนื้อปลา ไก่ แมลง กบ เขียด ผักและหน่อไม้ หมกหรือห่อหมกของภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิอู๋ คล้ายหมกแต่ไม่ใช้ใบตอง นิยมใช้กับเนื้อปลาโดยเฉพาะปลาตัวเล็กๆ กับพวกลูกอ๊อดกบ

หม่ำ คือ ไส้กรอกเนื้อวัวผสมตับ ตะไคร้และเครื่องเทศอื่นๆ

หม่ำขึ้ปลา มีลักษณะคล้ายปลาร้าชนิดหนึ่งรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว หมักกับข้าวเหนียว

แจ่ว คือ น้ำพริกของชาวอีสานนิยมใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาร้า บางครั้งใส่มะกอกพื้นบ้านก็เป็นแจ่วมะกอก รับประทานกับผักสด ลวก หรือนึ่ง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันทุกบ้านในภาคอีสาน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก

ตำซั่ว เป็นอาหารประเภทส้มตำชนิดหนึ่ง แต่ใส่ส่วนประกอบมากกว่า คือ ใส่ขนมจีน ผักดอง ผัก(เหมือนที่ใส่ขนมจีน) และมะเขือลาย หรือผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย ผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย

บ้านของชาวอีสาน



บ้านเรือนของชาวอีสาน

คนอีสานส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายไม่หวือหวาอะไร เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับท้องทุ่งในฤดูทำนา หรือหมดไปกับการหาปลาในหน้าที่ปลาชุกชุม ด้วยเหตุที่ชาวอีสานส่วนใหญ่จะออกไปทำงานตามไร่นาหรือหาอาหารนอกบ้าน ไม่ค่อยมีเวลามาพิถีพิถันกับบ้านเรือนมากนัก สภาพบ้านเรือนของชาวอีสานจึงมีความเรียบง่ายแต่ก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชาวอีสานส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่นิยมที่จะอยู่ในกระท่อมริมทุ่งนามากกว่าที่จะมาอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะความสงบเงียบและอากาศที่เย็นสบายของท้องทุ่งช่างเหมาะแก่การพักผ่อนยิ่งนัก ในปัจจุบันชาวอีสานจำนวนมากสร้างบ้านหลังใหญ่โตตามวัฒนธรรมสมัยใหม่ บ้านส่วนใหญ่สร้างจากอิฐและปูน(และไม้บ้าง)โดยมุงหลังคาด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ผิดกับในอดีตที่บรรพบุรุษชาวอีสานนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่นำมาทุบให้แตกแล้วเอาสร้างบ้านทั้งเป็นผนังบ้านและเป็นพื้นบ้านด้วยแล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก หรือใบตองที่นำมาสานกับรางไม้ไผ่ ซึ่งทุกวันนี้เราสามารถหาดูบ้านที่มีรูปแบบเช่นนี้ได้เฉพาะในชนบทที่ห่างไกล หรือตามงานเทศกาลตามจังหวัดต่างๆที่จะมีการนำบ้านแบบดั้งเดิมมาจัดแสดงให้ผู้คนรุ่นหลังๆได้ชมกัน สาเหตุที่ทำให้บ้านแบบดั้งเดิมของชาวอีสานแทบจะหายไปจากภาคอีสาน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหาไม้จะมาสร้างบ้านได้ยากกว่าในอดีต และบ้านแบบดั้งเดิมก็ไม่ค่อยมีความทนทานต่อสภาพอากาศมากนัก ส่วนกระท่อมที่มักจะเรียกกันว่ากระท่อมปลายนา(ชาวอีสานเรียกเถียงนาน้อย)ยังคงหาดูได้ทั่วไปทุกจังหวัดในภาคอีสาน (หากท่านขับรถไปตามถนนในภาคอีสานท่านจะต้องได้เห็นกระท่อมปลายนาของชาวอีสานแน่นอน) แต่ชาวนาไม่ได้นอนในกระท่อมปลายนาเหมือนในอดีตแล้ว ชาวนาจะใช้กระท่อมนี้เป็นที่หลบฝน รับประทานอาหาร ผักผ่อนช่วงสั้นๆ และเก็บวัสดุอุปกรณ์ในการทำนา หลังจากนั้นในตอนเย็นก็จะกลับไปพักยังบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านและกลับมาอีกครั้งในตอนเช้า เพื่อทำนา บางครั้งอาจจะนอนที่กระท่อมปลายนาบ้างก็เฉพาะพ่อบ้าน(เพื่อเฝ้าวัสดุอุปกรณ์และผลผลิตทางการเกษตร)ส่วนแม่บ้านและลูกๆจะนอนที่บ้านในหมู่บ้าน

ที่อยู่สามารถติดต่อได้

 
Copyright 2009 Aim